วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประวัติต่างๆ ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ







อธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สอบศักราช


หนังสือพระราชพงศาวดาร ศักราชแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผิดกันทั้ง ๓ ฉบับ พระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์เมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๙๖ พ.ศ. ๑๙๗๗ ครองราชสมบัติอยู่ ๓๙ ปี สวรรคตเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๘๓๕ พ.ศ. ๒๐๑๖

ฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า เสวยราชย์เมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๙๖ พ.ศ. ๑๙๗๗ ครองราชสมบัติอยู่ ๑๕ ปี สวรรคตเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๘๑๑ พ.ศ. ๑๙๙๒ (ปีรัชกาลน้อยกว่าฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ๒๔ ปี)

ฉบับหลวงประเสริฐว่า เสวยราชย์เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๑๐ (ช้ากว่าที่ว่าในฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ๑๔ ปี) ครองราชสมบัติอยู่ ๔๐ ปี (มากกว่า ๑๔ ปี) สวรรคตที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีวอกจุลศักราช ๘๕๐ พ.ศ. ๒๐๓๑ (ช้ากว่า ๑๕ ปี) ที่ศักราชหนังสือพระราชพงศาวดารผิดกันไปเป็นหลายอย่างด้วยเหตุใด ข้าพเจ้าจะได้อธิบายในตอนแผ่นดินสมเด็จพระอินทราชาที่ ๒ ข้าพเจ้าเชื่อว่าศักราชอย่างลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐนั้นเป็นถูกต้อง


ประวัติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช(สามพระยา) เรื่องสมถพของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกล่าวไว้ในหนังสือยวนพ่าย ให้เข้าใจว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชจะยกกองทัพลงไปตีเมืองเขมรนั้น ไปตั้งพลับพลารวมพลอยู่ที่ทุ่งพระอุทัย คือที่เรียกทุกวันนี้ว่าทุ่งหันตรา อยู่ข้างตะวันออกกรุงเก่า พระมเหสีกำลังทรงพระครรภ์อยู่ออกไปส่งเสด็จ ไปประสูติสมเด็จพระบรมไตรนาถที่พลับพลานั้น (เมื่อปีกุน จุลศักราช ๗๙๗ พ.ศ. ๑๙๗๔) กล่าวความนี้ไว้ในโคลงยวนพ่าย ๒ บาทว่า

"แถลงปางพระมาตุไท้ สมภพ ท่านนา
แดนตำบลพระอุทัย ท่งกว้าง" ดังนี้

ทรงพระเจริญขึ้น สมเด็จพระราชบิดาอภิเษกให้เป็นพระมหาอุปราช เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๘๐๐ พ.ศ. ๑๙๘๑ พระราชทานพระนามว่า พระราเมศวร ปีอภิเษกเป็นพระมหาอุปราชนี้ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐหลงว่าเป็นปีที่พระราเมศวรเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก อันจะเป็นไปไม่ได้ ด้วยในปีนั้นพระชันษาพระราเมศวรได้เพียง ๗ ขวบ ถ้าอภิเษกเป็นพระมหาอุปราชอย่างอภิเษกพระบรมโอรสาธิราชนั้นเป็นได้

จำเนียรกาลต่อมา สมเด็จพระบรมราชาธิราชโปรดให้พระราเมศวรอุปราช เสด็จขึ้นไปครองหัวเมืองเหนืออยู่ที่เมืองพิษณุโลก ถ้าจะประมาณศักราชเมื่อเสด็จขึ้นไป เทียบพระชันษาว่า ๑๕ ปี (คราวๆเดียวกับพระชันษาสมเด็จพระนเรศซร เมื่อขึ้นไปแครองเมืองพิษณุโลกอย่างเดียวกันในชั้นหลัง) คงเป็นเมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๐๘ พ.ศ. ๑๙๘๙ ครองเมืองเหนืออยู่ ๒ ปี สมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระราเมศวรก็ลงมาเสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา

ในสมัยเมื่อพระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกนั้น เชื่อได้ว่าเจ้านายเชื้อพระวงศ์ของพระมหาธรรมราชายังมีอยู่เป็นแน่ (เพราะยังมีเชื้อวงศ์ต่อมาจนถึงขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นพระมหาธรรมราชาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) แต่ในครั้งนั้นบางทีโดยมากจะเป็นเพียงชั้นหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ ถึงพวกข้าราชการครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็คงจะยังมีตัวอยู่ พระราเมศวรเสด็จขึ้นไปอยู่เมืองพิษณุโลก จะได้ไปทรงสมาคม บางทีจะถึงเกี่ยวดองกับเชื้อพระวงศ์ของพระมหาธรรมราชา จึงเป็นเหตุให้ทรงทราบและทรงนิยมราชประเพณีครั้งนครสุโขทัย อันจะพึงสังเกตได้ในเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เสด็จลงมาเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เห็นได้ว่าทรงประพฤติตามแบบอย่างราชประเพณีครั้งนครสุโขทัยโดยมาก

เนื้อความตามที่สอบได้ดังอธิบายมานี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสมภพเมื่อปีกุน จุลศักราช ๗๙๓ พ.ศ. ๑๙๗๔ เมื่อพระชันษา ๗ ปี ได้รับอภิเษกเป็นพระมหาอุปราชทรงพระนามพระราเมศวร เมื่อพระชันษา ๑๕ ได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ๒ ปี สมเด็จพระราชบิดาสวรรคต เสด็จลงมาครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๑๐ พ.ศ. ๑๙๙๑ เมื่อพระชันษาได้ ๑๗ เสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา ๑๕ ปี แล้วเปลี่ยนราชธานีไปประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปีมะแม จุลศักราช ๘๒๕ พ.ศ. ๒๐๐๖ ครองราชสมบัติอยู่ที่นั้นอีก ๒๕ ปี สวรรคตที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีวอก จุลศักราช ๘๕๐ พ.ศ. ๒๐๓๑ พระชันษาได้ ๕๗ ปี รวมปีที่ได้ครองราชสมบัติอยู่ ๔๐ ปี

พระนามที่เรียกว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นี้ ในหนังสือเรื่องอื่นบางฉบับเรียกว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนายกบ้าง สมเด็จพระบรมติโลกบ้าง แต่ก็เป็นความเดียวกัน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระนามพิเศษถวายเฉลิมพระเกียรติยศ ดังได้อธิบายไว้ในที่อื่นแล้ว

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีลูกยาเธอที่ปรากฏพระนาม ๓ พระองค์ ไม่ปรากฏพระนามพระองค์ ๑ ที่ปรากฏพระนามนั้นคือ (๑) พระบรมราชา ซึ่งพระราชทานอภิเษกให้อยู่ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสด็จขึ้นไปครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองพิษุโลก พระบรมราชานี้ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองราชสมบัติต่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมาอีก ๓ ปี จึงสวรรคต แต่หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ เรียกพระนาม(โดยสำคัญผิดพระองค์)ว่า สมเด็จพระอินทราชาธิราช (๒) พระอินทราชา ปรากฏพระนามเมื่อไปรบศึกเชียงใหม่ ต้องปืนที่พระพักตร์ครั้งรบกับหมื่นนคร เห็นจะสิ้นพระชนม์ในคราวนั้น ด้วยไม่ปรากฏพระนามต่อมาอีก (๓) พระเชษฐา ที่ได้เสวยราชย์เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สมภพที่เมืองพิษณุโลก ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ฝ่ายพระชนนีจะเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้ากรุงสุโขทัยแต่ก่อนมา (๔) ที่ไม่ปรากฏพระนามนั้น คือลูกเธอพระองค์หนึ่งซึ่งกล่าวในหนังสือยวนพ่ายว่า เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงผนวช รับสั่งให้ลูกเธอพระองค์นี้เสด็จไปนิมนต์พระสงฆ์ในเมืองลังกาเข้ามานั่งหัตถบาต ลูกเธอองค์นี้จะเป็นพระองค์ใดใน ๓ พระองค์ที่กล่าวแล้วไม่ได้ จึงเห็นว่าจะเป็นอีกพระองค์หนึ่งต่างหาก


เรื่องถวายวังเป็นวัด

หนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยา ทรงอุทิศที่พระราชวังเดิมในกรุงศรีอยุธยาสร้างเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ ย้ายพระราชวังลงมาตั้งข้างริมน้ำ การอุทิศพระราชวังถวายเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ครั้งนั้น ไม่ใช่ต้องย้ายวังไปสร้างที่อื่น อย่างหนังสือพระราชพงศาวดารชวนจะให้เข้าใจ ใครได้ไปดูท้องที่แล้วจะเห็นได้ว่าที่จริงเพียงกันเขตพระราชวังส่วนหนึ่งสร้างขึ้นเป็นวัด เป็นวัดอยู่ในกำแพงพระราชวัง อย่างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพฯนี้เอง

พระราชดำริที่สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ ข้าพเจ้าคาดว่าจะไปได้แบบแผนมาแต่เมืองสุโขทัย ซึ่งวัดพระมหาธาตุอยู่ในชานพระราชวัง อย่างนี้เห็นจะสะดวกแก่การที่จะบำเพ็ญพระราชกุศล อีกประการหนึ่งพระราชมนเทียรเดิมจะไม่เป็นที่ต้องพระราชหฤทัย จึงมาสร้างประทับใหม่ อุทิศถวายที่พระราชมนเทียรเดิมเป็นวัด พระราชมนเทียรที่สร้างใหม่นั้นในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ๒ องค์ คือพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ซึ่งยังเห็นได้ในทุกวันนี้องค์ ๑ พระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทอีกองค์ ๑ ไม่ปรากฏในทุกวันนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าเห็นจะอยู่ตรงพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์นั้นเอง


ตั้งตำแหน่งเสนาบดี

ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งตำแหน่งเสนาบดี เอาทหารเป็นกลาโหม พลเรือนเป็นสมุหนายก เอาขุนเมืองเป็นพระนครบาล เอาขุนวังเป็นพระธรรมาธิกรณ์ เอาขุนนาเป็นพระเกษตรา เอาขุนคลังเป็นพระโกษาธิบดีนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าที่จริงคือจัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง มิใช่เพียงแต่ตั้งยศขุนนางเท่านั้น ด้วยแต่ก่อนมา ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองยังเป็นเจ้าประเทศราช วิธิปกครองเอาเมืองเป็นที่สุด เมือง ๑ ก็จัดการปกครองสำหรับเมืองนั้นเบ็ดเสร็จ เสมอเป็นกองทัพไปตั้งอยู่กอง ๑ ฟังแต่ผู้บังคับบัญชาผู้เป็นเจ้าเมืองหลวง เมื่อพระเจ้าอู่ทองตั้งวพระองค์เป็นอิสระแล้ว ที่ให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชครองเมืองสุพรรณบุรี และสมเด็จพระราเมศวรครองเมืองลพบุรี ก็ครองอย่างวเป็นเจ้าประเทศราช หัวเมืองอื่นแม้มิใช่เจ้าเป็นผู้ปกครองก็เป็นเช่นนั้น มาในแผ่นดินสมเด็จพระอินทราชาธิราชเมื่ออำนาจมั่นคงขึ้นไปข้างเหนือ ตั้งลูกเธอ ๓ พระองค์ออกไปครองเมืองก็ครองอย่างเจ้าประเทศราช ที่เรียกในกฏหมายว่าเมืองลูกหลวง และเมืองพระยามหานคร ล้วนเป็นเมืองที่ปกครองอย่างเมืองประเทศราชทั้งนั้น

มาถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยามีอาณาเขตกว้างขวาง ถึงเวลาที่จะขยายอำนาจเมืองหลวงให้กว้างขวางออกไป จึงตั้งหัวเมืองชั้นในขึ้น หัวเมืองชั้นในเหล่านี้เรียกในครั้งนั้นว่าเมืองน้อย เรียกผู้ว่าราชการเมืองว่าผู้รั้ง (คือเหล่าเมืองที่มากำหนดเป็นเมืองจัตวาเมื่อภายหลัง) ล้วนอยู่รอบและใกล้เมืองหลวง ให้เจ้ากระทรวงในเมืองหลวงบังคับบัญชาการกระทรวงของตนออกไปถึงหัวเมืองชั้นในเหล่านั้นทุกเมือง เพราะฉะนั้นจึงได้กำหนดหน้าที่เจ้ากระทรวง เบื้องต้นแยกราชการเป็นฝ่ายทหาร พลเรือน สมุหกลาโหมบังคับการฝ่ายทหาร ซึ่งคงตามแบบเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้แก้ไขในครั้งนั้น มหาดไทยว่าฝ่ายพลเรือน คือกระทรวงพลเรือนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จำแนกหน้าที่อนุโลมตามแบบที่ปกครองในเมือง ยกขึ้นเป็นกระทรวงจตุสดมภ์ เอาขุนเมืองเป็นพระนครบาลว่าการปกครองท้องที่ ขุนวังเป็นพระธรรมาธิกรณ์ว่าการศาลและว่าการในพระราชสำนักด้วย เอาขุนคลังเป็นพระโกษาธิบดีพนักงานรักษาพระราชทรัพย์คือ ว่ากระทรวงพระคลัง (ภายหลังเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงทำการค้าขาย สินค้าของหลวงต้องส่งเข้ามาเก็บที่คลังสินค้า โกษาธิบดีจึงมีหน้าที่ในการค้าขายเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง และเพราะการค้าขายกับชาวต่างประเทศมาเป็นการสำคัญขึ้นในชั้นหลัง โกษาธิบดีจึงเกี่ยว แล้วมากลายเป็นกระทรวงสำหรับการต่างประเทศ) ขุนนาเป็นเกษตราธิบดีว่าการไร่นาเพาะปลูก และการเก็บสรรพากรขนอนตลาด

หน้าที่ๆจำแนกแต่เดิมเป็นเช่นนี้ เจ้ากระทรวงว่าการแผนกนั้นๆว่าทั้งในกรุงและตลอดไปในหัวเมืองชั้นใน ที่มาแบ่งหัวเมืองให้ขึ้นมหาดไทยบ้าง ขึ้นกลาโหมบ้างในชั้นหลัง เข้าใจว่าเดิมจะกำหนดแต่หัวเมืองประเทศราชและหัวเมืองชั้นนอก ซึ่งเป็นหัวเมืองปกครองเบ็ดเสร็จอยู่ในตัว ได้เห็นทำเนียบหัวเมืองครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในหนังสือของมองซิเออร์ลาลูแบร์ว่า ในครั้งนั้นมีเมืองน้อยขึ้นกรุงศรีอยุธยา (คือเมืองชั้นใน) ฝ่ายเหนือ ๒๑ เมือง ฝ่ายใต้ ๑๓ เมือง
เมืองใหญ่ฝ่ายเหนือมี ๗ คือ
เมืองพิษณุโลก มีเมืองขึ้น ๑๐
เมืองสุโขทัย มีเมืองขึ้น ๗
เมืองสวรรคโลก มีเมืองขึ้น ๘
เมืองพิชัย มีเมืองขึ้น ๗
เมืองกำแพงเพชร มีเมืองขึ้น ๑๐
เมืองเพชรบูรณ์ มีเมืองขึ้น ๒
เมืองนครราชสีมา มีเมืองขึ้น ๕
เมืองใหญ่ฝ่ายใต้ ๗ เมือง คือเมืองยะโฮ มีเมืองขึ้น ๗ (แต่ว่าเมืองยะโฮในเวลานั้นตั้งแข็งเมืองเสียแล้ว)
เมืองปัตตานี มีเมืองขึ้น ๘
เมืองพัทลุง มีเมืองขึ้น ๘
เมืองนครศรีธรรมราช เมืองขึ้น ๒๐
เมืองไชยา มีเมืองขึ้น ๒
เมืองตะนาวศรี มีเมืองขึ้น ๑๒
เมืองจันทบุรี มีเมืองขึ้น ๗
เมืองขึ้นหัวเมืองใหญ่ตามทำเนียบนี้ ก็จะเกิดจากขยายแบบอย่างที่จัดในกรุงออกไป แต่วิธีปกครองหัวเมืองภายหลังมาเลื่อนไป จึงกลายเป็นเหมาเบ็ดเสร็จอยู่ในตัวทั้งชั้นนอกชั้นใน และแยกขึ้นกลาโหมบ้าง มหาดไทยบ้าง ทั้งชั้นนอกชั้นใน และโกษาธิบดีก็ได้ว่าหัวเมืองด้วย เป็นอย่างนี้มา จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดวิธีปกครองหัวเมือง เปลี่ยนเป็นวิธีมณฑลเทศาภิบาลอย่างเป็นอยู่ทุกวันนี้

คำอธิบายที่กล่าวมานี้ เป็นความสันนิฐานของข้าพเจ้า บางทีจะพลาดพลั้งไปได้บ้าง แต่อย่างไรก็ดีเป็นข้อยุติควรเชื่อได้ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เป็นผู้ริเริ่มทรงจัดวิธีการปกครองบ้านเมือง ซึ่งได้ใช้เป็นแบบปกครองพระราชอาณาจักรสืบมาหลายร้อยปี แม้แบบแผนที่มาเปลี่ยนใหม่ในรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็เป็นแต่เปลี่ยนไป มิได้ลบล้างรูปเดิมที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงตั้งไว้


ตั้งทำเนียบศักดินา

การตั้งทำเนียบศักดินา ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงจัดขึ้นอีกอย่างหนึ่งนั้น ได้ความในกฎหมายว่า ตั้งเมื่อปีจอ จุลศักราช ๘๑๖ พ.ศ. ๑๙๙๗ คือตั้งกำหนดว่าผู้มียศชั้นใดควรมีนาได้เท่าใด ดังเช่นเจ้าพระยา หรือพระยาชั้นสูง มีนาได้คนละ ๑๐๐๐๐ ไร่บ้าง ๕๐๐๐ ไร่บ้าง ๓๐๐๐ ไร่บ้าง ขุนนางผู้น้อยตั้งแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป ส่วนพลเมืองมีนาได้คนละ ๒๕ ไร่ แปลว่าในเวลาที่ตั้งกำหนดศักดินาขึ้นนั้น คนทำราชการไม่ได้รับเบี้ยหววัดเงินเดือน เวลานั้นที่ดิน คือ ที่นาเป็นสมบัติอันมีราคายิ่งกว่าอย่างอื่น ผู้ที่แสวงหาทรัพย์สมบัติย่อมแสวงหาที่ดินเป็นสำคัญ

เพื่อไม่ให้แย่งที่ดินกันนั้นประการหนึ่ง เพื่อจะให้คนมีที่ดินมากและน้อยตามกำลังและยศศักดิ์ประการหนึ่ง จึงได้ตั้งพระราชบัญญัติกำหนดศักดินา คือว่า ถ้าผู้มียศถึงเท่านั้นรัฐบาลอนุญาตให้มีที่นาได้เท่านั้นเป็นอย่างมาก จะมีเกินอนุญาตไม่ได้ นี่เป็นมูลของศักดินา

แต่เมื่อตั้งศักดินาขึ้น ศักดินาเลยเป็นเครื่องกำหนดสำหรับใช้ในการอื่นต่อไปอีกหลายอย่าง เช่นเป็นหลักในการปรับไหม เป็นหลักอำนาจในการบางอย่างเช่นแต่งทนายว่าความ เป็นต้น ไม่ใช่เพียงจะมีนาได้กี่ไร่อย่างเดียว ประเพณีศักดินายังมีอยู่จนทุกวันนี้ แต่อำนาจและประโยชน์ทั้งปวงที่ได้จากศักดินาได้เลิกเสียแล้ว แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


เรื่องตีเมืองมะละกา

การสงครามที่มีในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้แต่งกองทัพไปตีเมืองมะละกาครั้งหนึ่ง (ตามฉบับหลวงประเสริฐว่า) เมื่อปีกุน จุลศักราช ๘๑๗ พ.ศ. ๑๙๙๘ ต่อนั้นมาต้องทำศึกกับเชียงใหม่หลายคราว

เรื่องเมืองมะละกาได้ความตามหนังสือของครอเฟิด แต่งเรื่องชวามลายู ว่าเดิมพวกแขกมลายูอยู่ที่เมืองมะนังกะเบาในเกาะสุมาตรา เมื่อผู้คนที่เมืองมะนังกะเบาหนาแน่นจึงมีมลายูพวกหนึ่งอพยพกันข้ามมาตั้งอยู่ที่อูยังตะนะ ๆ แปลว่า ปลายแหลม คือ แหลมมลายู เมื่อราวจุลศักราช ๕๒๗ พ.ศ. ๑๗๐๘ ครั้นตั้งลงเป็นถิ่นฐานได้แล้วจึงตั้งขึ้นเป็นเมืองให้ชื่อว่าเมืองสิงคปูร อยู่มาพวกชวาข้ามมาตีเมืองสิงคโปร์ พวกมลายูสู้ไม่ได้จึงอพยพขึ้นมาข้างเหนือ เมื่อราวจุลศักราช ๕๖๙ พ.ศ. ๑๗๕๐ มารวบรวมกันอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีภูเขาอันเต็มไปด้วยต้นมะละกอ เมื่อรวบรวมกันอยู่ได้มั่นคงแล้ว จึงตั้งที่นั่นเป็นเมือง เรียกชื่อเมืองมะละกา ในเวลานั้นพวกมลายูยังถือพระพุทธศาสนาบ้าง ถือศาสนาพราหมณ์บ้าง แต่อิสลามกำลังแพร่หลายมาทางตะวันออก มีคนถือศาสนานั้นมากขึ้นทุกที เจ้าเมืองมะละกาคนแรกที่ถือศาสนาอิสลามครองเมืองเมื่อจุลศักราช ๖๓๘ พ.ศ. ๑๘๑๙ ได้ความตามหนังสือของครอเฟิดดังนี้

เมืองมะละกาเคยขึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งพระเจ้าอู่ทองเป็นแน่ การที่สมเด็ตจพระบรมไตรโลกนาถแต่งกองทัพลงไปตีคราวนี้ เห็นจะเป็นด้วยเจ้าเมืองมะละกาที่นับถือศาสนาอิสลาม ไปคบคิดกับพวกแขกอาหรับหรือแขกชาวอินเดียที่ไปมาค้าขายและชอบพอกับเจ้าเมืองมะละกา ด้วยถือศาสนาเดียวกันตั้งแข็งเมืองเอากรุงศรีอยุธยา มีในตำนานของโปรตุเกสเล่าว่า ไทยได้ยกกองทัพไปตีเมืองมะละกาเมื่อก่อนโปรตุเกสมาถึง


เรื่องรบกับเชียงใหม่

การสงครามที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำกับเชียงใหม่นั้น ผิดกับสงครามในรัชกาลก่อนๆ นับตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ มา แต่ก่อนเป็นแต่ยกไปรบเมืองอื่นฝ่ายเดียว แต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ เกิดพระเจ้าติโลกราช คือ ท้าวลก เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีอานุภาพมากขึ้นในเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงใหม่กำเริบลงมาเบียดเบียนอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องทำสงครามป้องกันพระราชอาณาเขต ไม่ให้เสียไปแก่เชียงใหม่ จึงเป็นการลำบากกว่าสงครามในรัชกาลก่อนๆ

เรื่องราวของพระเจ้าติโลกราช กล่าวไว้ในหนังสือตำนานโยนกว่า พระเจ้าสามฝั่งแกนเจ้านครเชียงใหม่ มีราชบุตรต่างมารดากัน ๑๐ องค์ เรียกพระนามตามจำนวนว่า ท้าวอ้าย ท้าวยี่ ท้าวสาม ท้าวไส ท้าวงั่ว ท้าวลก ท้าวเจ็ด ท้าวแปด ท้าวเก้า(ควรจะเป็นท้าวเจา) ท้าวสิบ(ควรจะเป็นท้าวจ๋ง) พระบิดาให้ท้าวลกซึ่งเป็นราชบุตรที่ ๖ ไปครองเมืองพร้าว ท้าวลกนี้ว่าสมภพเมื่อปีฉลู จุลศักราช ๗๗๑ พ.ศ. ๑๙๕๒ เมื่อไปครองเมืองพร้าวอยู่ไม่นานเท่าใดมีความผิด พระราชบิดาให้เนรเทศไปอยู่เมืองยวมใต้ ท้าวลกคบคิดกับอำมาตย์ในเมืองเชียงใหม่คนหนึ่งชื่อว่าสามเด็กย้อย ซ่องสุมกำลังได้มากแล้วลอบยกเข้ามาจับพระเจ้าสามฝั่งแกนได้ บังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนมอบเวนราชสมบัติให้ แล้วท้าวลกขึ้นเสวยราชย์เมื่อปีจอ จุลศักราช ๘๐๔ พ.ศ. ๑๙๘๕ พวกสมณะและเสนาบดีเอาคำว่า ลก ไปผูกเป็นพระนามถวายว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช

พระเจ้าติโลก ได้หมื่นนครผู้เป็นอาเป็นกำลังคิดอ่านการรบพุ่ง ขยายอาณาเขตออกไปได้ทุกด้าน สาเหตุที่เกิดรบกับกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ความตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ กับหนังสือยวนพ่าย ประกอบกับความสันนิษฐานเรื่องเป็นเช่นนี้ คือเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จลงมาเสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา ไม่ได้ตั้งผู้ใดให้มีสิทธิ์ขาดครองเมืองเหนือทั้งปวงอย่างเมื่อทรงครองอยู่เอง หัวเมืองใหญ่ฝ่ายเหนือในเวลานั้น จึงมีพระยาครองเมืองเป็นอิสระแก่กันอยู่ ๔ เมือง คือ เมืองพิษณุโลก ๑ เมืองสุโขทัย ๑ เมืองกำแพงเพชร ๑ เมืองเชลียง ๑

เมืองเชลียงยังไม่รู้แน่ชัดในบัดนี้ว่าเป็นเมืองไหน แต่เป็นเมืองสำคัญออกชื่อในหนังสือพงศาวดารหลายเรื่อง สังเกตในเรื่องราวที่กล่าวถึงเมืองเชลียงเข้าใจว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปจนแดนเมืองเชียงใหม่ ผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนเข้าใจกันว่าเมืองเชลียงอยู่ในแขวงเมืองกำแพงเพชร หรือเป็นชื่อ ๑ ของเมืองกำแพงเพชรเอง แต่เมื่อมาสอบสวนและพบหนังสือเก่าเรื่องอื่น มีหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐเป็นต้น ในชั้นหลังนี้ได้ความรู้เป็นแน่ว่า เมืองเชลียงอยู่ห่างกับเมืองกำแพงเพชร และตั้งริมแม่น้ำยมอยู่ไปข้างเหนือเมืองสุโขทัยด้วย มีเหตุหลายอย่างซึ่งทำให้น่าลงเนื้อเห็นว่าเมืองเชลียงจะเป็นชื่อเดิมของเมืองสวรรคโลกนี้เอง ด้วยอยู่เหนือเมืองสุโขทัย และเป็นเมืองเก่ากว่าเมืองอื่นๆข้างฝ่ายเหนือ สมกับแผนที่กล่าวถึงเรื่องเมืองเชลียง ใช่แต่เท่านั้น หนังสือเก่าบางเรื่อง เช่น พระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) ในลักษณะลักพา ซึ่งเรียกชื่อเมืองควบเป็นคู่กันว่า ชากังราวกำแพงเพชร ทุ่งยั้งบางยม สระหลวงสองแคว เชลียงสุโขทัย ดังนี้ส่อให้เห็นว่าน่าเป็นเมืองสวรรคโลก จึงเรียกชื่อควบกับเมืองสุโขทัย

ยังมีที่สังเกตอีกอย่างหนึ่งซึ่งหนังสือเก่าบางเรื่อว เช่น ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐนี้เอง ในที่ใดเมื่ออกชื่อเมืองเชลียงแล้ว ไม่ได้กล่าวถึงเมืองสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัย(ซึ่งเป็นเมืองเดียวกัน) ในที่นั้นเลย ได้พบหนังสือเก่าฉบับเดียว แต่เป็นหนังสือสำคัญอันจะคัดค้านยาก คือ จารึกของพระเจ้าขุนรามคำแหง ซึ่งออกชื่อทั้งเมืองเชลียงและเมืองศรีสัชนาลัยว่า ได้เอาศิลาจารึกไปประดิษฐานไว้ใกล้พระรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียงสถาบกแห่งหนึ่ง และต่อมาในจารึกนั้นว่า ได้ขุดพระบรมธาตุที่กลางเมืองศรีสัชนาลัยขึ้นให้คนบูชา จารึกนี้ทำให้เข้าใจว่า เมืองศรีสัชนาลัยจะไม่ใช่เมืองเดียวกับเมืองเชลียงสถาบก ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษาโบราณคดียังจะต้องสืบสวนต่อไปว่า เมืองเชลียงนั้นเป็นเมืองไหนในทุกวันนี้แน่

พระยาสุรบดินทร(พร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ซึ่งเป็นผู้เอาใจใส่ไต่สวนเรื่องนี้เข้าใจว่า ที่เรียกว่าเมืองเชลียง เห็นจะเป็นเมืองลองที่เป็นอำเภอขึ้นนครลำปางอยู่ทุกวันนี้ เพราะมีแนวคูและเชิงเทินเป็นเมืองเก่าตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมข้างเหนือเมืองสวรรคโลก และอีกเมืองหนึ่งซึ่งเรียกว่าเมืองเชียงชื่นในหนังสือยวนพ่าย และตำนานโยนกนั้น เห็นจะเป็นเมืองเถิน ข้าพเจ้ายังไม่ได้ตรวจเห็นด้วยตาตนเองทั้ง ๒ แห่ง จึงยังไม่กล้าลงเนื้อเห็นเป็นยุติดังว่านี้ หลักที่จะค้นเมืองเชลียงมีอยู่ ๓ ข้อ คือ ข้อ ๑ ต้องเป็นเมืองเก่า ข้อ ๒ ต้องอยู่ต่อแดนอาณาจักรลานนาไทย ข้อ ๓ ต้องเป็นเมืองใหญ่ แม้ลงมาจนแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองเชลียงก็ยังเป็นเมืองใหญ่ เห็นได้ด้วยชื่อเจ้าเมืองที่พระยายุทธิศฐิร อันมาแต่นามของกษัตริย์ครั้งมหาภารตะ ต้องเป็นเจ้าเมืองครองเมืองใหญ่ บรรดาศักดิ์ไม่ต่ำกว่าเจ้าเมืองสุโขทัยและเมืองกำแพงเพชร เมืองลองนั้นข้าพเจ้าได้ทราบตามคำชี้แจงของพระยาสุรบดินทรว่าเป็นเมืองเล็ก

สันนิษฐานยังมีอีกอย่างหนึ่ง บางทีเรียกว่าเมืองเชลียงนั้น ถ้ามิใช่เมืองสวรรคโลกก็จะอยู่ใกล้ๆกับเมืองสวรรคโลกนั้นเอง ความจริงอาจจะเป็นดังนี้ คือ เมื่อแรกสร้างเป็นเมืองขึ้นในที่นั้น เรียกชื่อว่าเมืองเชลียง หรือเรียกเป็น ๒ ชื่อ เรียกว่า ๑ สถาบก(ซึ่งภายหลังมากลายเป็นสังกะโลกและสวรรคโลก)ชื่อ ๑ ดังจารึกไว้ในคำจารึกของพระเจ้าขุนรามคำแหง แต่คนทั้งหลายเรียกชื่อว่าเมืองเชลียง เป็นที่รู้กันตลอดปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ อยู่มามีผู้มีอำนาจสร้างเมืองขึ้นในที่ใกล้เมืองเชลียงนั้นอีกเมืองหนึ่ง ให้ชื่อว่าเมืองศรีสัชนาลัย จึงเกิดเป็น ๒ เมือง ๒ ชื่อขึ้นในจังหวัดอันเดียวกัน แต่อยู่ในความปกครองของเจ้าเมืองคนเดียวกันเสมอมา ตลอดจนถึงในรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อที่เป็นอย่างที่ว่านี้มีตัวอย่างในที่อื่นหลายแห่ง เช่น เมืองชากังราว เมืองนครชุม เมืองกำแพงเพชร ๓ ชื่อ ๓ เมืองนี้ก็อยู่ติดต่อในที่อันเดียวกัน เมืองพิษณุโลกซึ่งแต่เดิมเรียกว่า สระหลวงเมือง ๑ สองแควเมือง ๑ ก็อยู่ในท้องที่เป็นเมืองเดียวกัน เมืองโคราช เมืองเสมา ๒ เมืองนี้ก็ยังมีตัวเมืองโบราณไม่ห่างสถานีสูงเนินอยู่คนละฟากลำน้ำตะคองใกล้กัน ภายหลังสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง จึงเอาชื่อเมืองเดิมทั้งสองไปแก้ไขรวมเรียกว่าเมืองนครราชสีมา คนทั้งหลายก็ยังเรียกตามชื่อเดิมว่า เมืองโคราช ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องเมืองเชลียงอาจจะเป็นได้เหมือนกัน

เรื่องการสงครามในระหว่างสมเด็จพระบรมไตรโลบกนาถ กับพระเจ้าติโลกราชนั้น เกิดรบกันขึ้นครั้งแรกเมื่อปีชวด จุลศักราช ๘๑๘ พ.ศ. ๑๙๙๙ กล่าวในหนังสือยวนพ่ายว่า เป็นด้วยเหตุพระยายุทธิษฐิรเจ้าเมืองเชลียงเอาใจออกห่างไปเข้ากับเชียงใหม่เป็นไส้ศึก พระเจ้าติโลกราชได้ทีจึงยกกองทัพลงมาตีได้เมืองกำแพงเพชร แล้วไปตีเมืองสุโขทัย และส่งทัพหน้าลงมากวาดครัวถึงเมืองชัยนาท สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไป ทัพหน้าเชียงใหม่รู้ก็ถอย กองหน้าของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตามไปทันกองหลังของพระเจ้าเชียงใหม่ที่น้ำลิบ (เข้าใจว่าที่เรียกว่าน้ำลี้ แขวงเมืองลี้ขึ้นนครลำพูนต่อแดนเมืองเถินทุกวันนี้) ตีทัพเชียงใหม่แตกไป ตรงกับคราวที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า แต่งทัพไปเอาเมืองศรีสบเถิน (บางแห่งว่าลิสบเถิน) และทัพหลวงเสด็จหนุนขึ้นไปตั้งที่บ้านโคนนั้น

ต่อมาหลายปี เมื่อรู้แน่ว่าพระยายุทธิษฐิรเจ้าเมืองเชลียงเป็นกบฏ ไปเข้าด้วยพระเจ้าติโลกราช เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๒๒ พ.ศ. ๒๐๐๓ ตรงนี้ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่าพระยาเชลียงเอาครัวทั้งปวงไปออกแก่มหาราชนั้น ครั้นถึงปีมะเส็ง จุลศักราช ๘๒๓ พ.ศ. ๒๐๐๔ พระยายุทธิษฐิรเป็นทัพหน้า นำพระเจ้าติโลกราชลงมาตีได้เมืองสุโขทัย แล้วยกไปตีเมืองพิษณุโลกไม่ได้ ให้มาตีเมืองกำแพงเพชรก็ไม่ได้ พอพระเจ้าติโลกราชได้ข่าวว่ามีศึกฮ่อมาตีเมืองเชียงใหม่ ก็เลิกทัพกลับไป ทางนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้พระยากลาโหมยกกองทัพไปตีเอาเมืองสุโขทัยคืนมาได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระราชดำริเห็นว่าราชการทางหัวเมืองเหนือหนักแน่น เวลามีศึกมาส่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปไม่ทัน จึงเสด็จขึ้นไปเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๘๒๕ พ.ศ. ๒๐๐๖ และ (ตามฉบับหลวงประเสริฐว่า) "ตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชา" คือ กลับเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองลูกหลวง

ในปีมะแม จุลศักราช ๘๒๕ นั้น พระเจ้าติโลกราชยกกองทัพลงมาตีเมืองสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จยกทัพหลวงออกไปต่อสู้ข้าศึกพร้อมด้วยพระอินทราชาครั้งหนึ่ง กองทัพพระอินทราชาตีทัพพระยายุทธิษฐิรซึ่งเป็นทัพหน้าของพวกเมืองเชียงใหม่แตก ติดตามถลำเข้าไปปะทะกองทัพหมื่นนครอาพระเจ้าติโลกราช ซึ่งเป็นทัพใหญ่มีกำลังมาก ถึงต้องชนช้างกัน ช้างข้าศึกรุมชนช้างพระอิทราชาถึง ๔ ช้าง พระอินทราชาต้องปืนที่พระพักตร์ กองทัพต้องถอยลงมา ข้างเชียงใหม่เห็นว่าจะเอาชัยชนะไม่ได้ พระเจ้าติโลกก็ถอยทัพกลับไป (เรื่องชนช้างคราวนี้ในตำนานโยนกว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกับพระอินทราชายกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ไปชนช้างกันในแขวงเมืองนครลำปาง) แต่นั้นการสงครามก็รากันไป

พระเจ้าติโลกราชเห็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปตั้งราชธานีอยู่ข้างเหนือ ก็ให้หมื่นด้งนครลงมาอยู่รักษาเมืองเชียงชื่น (จะเป็นเมืองที่เรียกอยู่ในบัดนี้ว่าเมืองลอง หรือเมืองเถิน เมืองใดเมืองหนึ่ง) และจัดให้ท้าวพระยาออกมารักษาด่านแดนตลอด

ยังไม่ทันได้รบกันอีก ทางเชียงใหม่ก็เกิดหยุกหยิกขึ้น ในตำนานโยนกว่า เพราะกรุงศรีอยุธยาแต่งกลอุบายให้พระภิกษุองค์หนึ่งขึ้นไปเป็นไส้ศึกยุยงพระเจ้าติโลกราช ในหนังสือยวนพ่ายต้องกันว่า พระเจ้าติโลกราชเกิดสงสัยสนเท่ห์ไปต่างๆ แม้แต่ท้าวบุญเรืองซึ่งเป็นราชโอรสก็สงสัยว่าจะคิดประทุษร้าย ให้จับสำเร็จโทษเสีย (บางทีจะเกิดคิดร้ายกันขึ้นจริง ด้วยในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวความไว้หน่อยหนึ่งว่า "มหาราชท้าวบุญ(เรือง) ชิงเอาเมืองเชียงใหม่แก่ท้าวลูก" คือท้าวลก) และเกิดสงสัยหมื่นด้งนครว่า จะมาเข้ากับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ให้ข้าหลวงลงมาให้หาตัวหมื่นด้งนครกลับไปเมืองเชียงใหม่ หนังสือยวนพ่ายแต่งว่า หมื่นด้งนครรู้ตัวว่าถ้าขึ้นไปเมืองเชียงใหม่จะมีภัยอันตราย และมีผู้ทัดทานมิให้ไปตามรับสั่งของพระเจ้าติโลกราช แต่หมื่นด้งนครเป็นคนซื่อสัตย์ยอมไป ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าทรยศต่อเจ้า คำอุทานของหมื่นด้งนครว่าไว้เป็นโคลง ๒ บท เพราะดี ข้าพเจ้าจึงคัดมาลงไว้ดังนี้

" ข้าไทเบศ ใดใด ก็ดี
ตายเพื่อภักดีโดย ซื่อพร้อม
คือคนอยู่เป็นใน อิธโลก
ปรโลกนางฟ้าล้อม เลอศอินทร
ทวยใดเจ้าเกื้อโภค ภูลมี
ครั้นบ่ถวิลภักดี แด่เจ้า
ชีพยืนอยู่แสนปี เป็นคู่ ตายนา
ตายก็คือได้เข้า ค่องน้ำนรกานต์"

ตามเรื่องยวนพ่ายปรากฏว่า เมื่อพระเจ้าติโลกราชเอาหมื่นด้งนครไปลงโทษที่เมืองเชียงใหม่ ทางนี้ผู้หญิงซึ่งเป็นหัวหน้ารักษาเมืองเชียงชื่น ชื่อนางเมือง มาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ขอกองทัพขึ้นไปรักษาเมืองเชียงชื่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยังไม่ทันยกขึ้นไป เมืองแพร่ เมืองน่าน ยกมาตีเมืองเชียงชื่นได้ก่อน พวกชาวเชลียงที่เชียงใหม่กวาดต้อนเอาไป พากันหนีกลับมาเข้ากับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีได้เมืองเชียงชื่น (ตรงนี้ตรงกับที่ว่าในพระราชพงศาวดารว่า เสด็จขึ้นไปเอาเมืองเชลียงศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐ) เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๘๓๖ พ.ศ. ๒๐๑๗ สงครามที่ทำกับเชียงใหม่หมดเพียงเท่านี้

ต่อนั้นมาปรากฏในฉบับหลวงประเสริฐว่า รุ่งขึ้นปีมะแม จุลศักราช ๘๓๗ พ.ศ. ๒๐๑๘ พระเจ้าติโลกราชก็ให้มาขอเป็นไมตรี ซึ่งควรเชื่อได้ว่าเป็นความจริง ด้วยพระเจ้าติโลกราชอ่อนกำลังอยู่แล้ว ทั้งความหยุกหยิกก็มีขึ้นในเมือง ข้างสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็กำลังบอบช้ำด้วยการทำสงครามเหมือนกัน เมื่อได้เขตแดนกลับคืนมาหมดแล้วก็สิ้นเหตุที่จะทำสงครามต่อไป เป็นถึงเวลาเหมาะที่จะกลับเป็นไมตรีกันกับเมืองเชียงใหม่ด้วยประการทั้งปวง


เรื่องได้ช้างเผือก

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ช้างเผือก (ตามฉบับหลวงประเสริฐว่า) เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๘๓๓ พ.ศ. ๒๐๑๔ เป็นช้างเผือกตัวแรกที่ปรากฏว่าได้ในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ปรากฏว่าพระเจ้าขุนรามคำแหงมีช้างเผือก ๑ เรียกชื่อว่า รูบาสี


เรื่องสร้างวัดที่เมืองพิษณุโลก

ในหนังสือพระราชพงศาวดารปรากฏว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างวัดที่เมืองพิษณุโลก ๒ วัด คือ (ตามฉบับหลวงประเสริฐว่า) เมื่อปีวอก จุลศักราช ๘๒๖ พ.ศ. ๒๐๐๗ ทรงสร้างวัดจุฬามณี วัดจุฬามณีนี้อยู่ฝั่งตะวันออก ใต้เมืองพิษณุโลกลงมาทางสัก ๒๐๐ เส้น ข้าพเจ้าได้ไปตรวจดู สังเกตเห็นว่าพระปรางค์เป็นปรางค์ขอม ไม่ใช่ของสร้างคราวเดียวกับวัด เข้าใจว่าเดิมปรางค์นั้นเป็นเทวสถาน บางทีเมื่อขอมแรกสร้างเมืองพิษณุโลกจะสร้างตรงนั้นก่อน

สิ่งซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสร้างขึ้นใหม่นั้น มีพระอุโบสถหลังหนึ่ง พระวิหารหลังหนึ่ง เป็นฝีมือครั้งนั้น เห็นได้ว่าสร้างใหม่และพอกแก้เทวสถานเป็นพระปรางค์ อยู่ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร ข้างหน้าวัดมีรากตึกอยู่หมู่หนึ่ง เข้าใจว่าจะเป็นตำหนักเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวช ในวัดนั้นมีมณฑปสร้างภายหลังอีกหลังหนึ่ง มีศิลาจารึกทำเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บอกศักราชและเรื่องซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงสร้างวัดและทรงผนวชที่วัดจุฬามณีปรากฏอยู่เป็นสำคัญ วัดจุฬามณีนี้เห็นจะร้างรกไม่ได้มีผู้ใดเห็นศิลาจารึกนี้มาช้านานทีเดียว จึงเข้าใจกันว่าวักจุฬามณีมีอยู่ในกรุงเก่า ได้ทราบว่าครั้งรัชกาลที่ ๔ ได้เที่ยวค้นหาวัดจุฬามณีในกรุงเก่าจึงไม่พบ

หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวอีกแห่งหนึ่งว่า เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ พ.ศ. ๒๐๒๕ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีมหกรรมฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองพิษณุโลก พระมหาธาตุที่ว่านี้ คือ พระมหาธาตุวัดพระพุทธชินราชนั้นเอง ไม่มีที่สงสัย เรื่องวัดพระมหาธาตุที่เมืองพิษณุโลกนี้ ผู้สันทัดตรวจการช่างโบราณได้เคยบ่นกันว่า บรรดาสถานที่พบในวัดนั้นไม่เห็นสิ่งใดที่เก่าถึงสมัยที่กล่าวว่าสร้างพระพุทธชินราช เมื่อ พ.ศ. ๑๕๐๐ ถ้าพิเคราะห์ดูตามพงศาวดารข้อนี้ก็จะเข้าใจได้ว่า พระมหาธาตุเเละโบสถ์วิหารและสิ่งอื่นๆที่เห็นอยู่ในเวลานี้โดยมากเป็นของสร้างในครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลก เสด็จไปครองราชสมบัติอยู่เมืองพิษณุโลก เสด็จอยู่พิษณุโลกถึง ๒๕ ปี มีเวลานานพอที่จะสร้างวัดวาเหล่านั้นได้หลายวัด ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระพุทธรูปยืนพระองค์ใหญ่ที่ถวายพระนามว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร ซึ่งเดิมอยู่วัดวิหารทองเมืองพิษณุโลก และเชิญมาไว้ที่วิหารวัดสระเกศในกรุงเกศในกรุงเทพฯ พระองค์นี้ ก็จะสร้างครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหมือนกัน


เรื่องสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวช

ในหนังสือพระราชพงศาวดารทุกฉบับยุติต้องกันว่า สมเด็จพระงบรมไตรโลกนาถเสด็จออกทรงผนวชอยู่วัดจุฬามณี ๘ เดือน พระราชโอรสและเสนาข้าราชการพากันออกไปทูลอัญเชิญเสด็จ จึงลาผนวชกลับขึ้นครองราชสมบัติอย่างเดิม ศักราชปีทรงผนวชฉบับหลวงว่า ปีระกา จุลศักราช ๘๒๗ พ.ศ. ๒๐๐๘

ประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินออกผนวชในพระพุทธศาสนา พวกศึกษาโบราณคดีในอินเดียที่ตรวจสอบคำจารึกของพระเจ้าอโศก เข้าใจว่าพระเจ้าอโศกเองก็ได้เสด็จออกทรงผนวชคราวหนึ่ง แต่ประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินทางประเทศนี้ออกทรงผนวช ปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อพระมหาธรรมราชา(ลิไทย) พระเจ้ากรุงสุโขทัยออกทรงผนวช เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๗๒๓ พ.ศ. ๑๙๐๔ สมัยเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถออกทรงผนวชนั้น ดูความนิยมในทางข้างพระศาสนาเจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งในกรุงศรีอยุธยาและเชียงใหม่ ตลอดออกไปจนเมืองหงสาวดีก็เหมือนกัน ควรจะอธิบายตำนานพระพุทธศาสนาไว้ในที่นี้อีกสักตอนหนึ่ง

ในอธิบายเรื่องตอนก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงตำนานพระพุทธศาสนาที่มาประดิษฐานในประเทศนี้จากมัธยมประเทศ ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกเป็นต้นมา จนถึงพระเจ้าอนุรุธ เมืองพุกามได้เป็นใหญ่ ในครั้งพระเจ้าอนุรุธนั้น พระพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมทรามเสียมากแล้ว ครั้นพวกถือศาสนาอิสลามได้มีอำนาจเป็นใหญ่ขึ้นในอินเดียก็ยิ่งเบียดเบียนพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนด้วยประการต่างๆ ที่สุดจนรื้อทำลายวัดวาอารามและเจดียสถานเสียมากกว่ามาก พุทธศาสนาถูกทั้งพวกพราหมณ์แลพพวกอิสลามในอินเดียทำอันตรายเรื่อยมา จนไม่มีบ้านเมืองที่ถือพระพุทธศาสนาเป็นประธานอยู่ในประเทศอินเดีย เว้นแต่เมืองปลายเขตแดน เช่น เมืองเนปาล และกัสมิระ และบางทีจะมีเมืองทางฝ่ายใต้ใกล้ลังกาที่ยังนับถือพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง ด้วยเหตุนี้การคบหาสมาคมกับประเทศอินเดียด้วยเรื่องพระพุทธศาสนาจึงสาบสูญมาเสียช้านาน แต่ในลังกา พระเจ้าแผ่นดินและอาณาประชาราษฎร ยังนับถือพระพุทธศาสนาเป็นประธานอยู่เหมือนประเทศทางนี้ เมื่อคบหาสมาคมกับอินเดียด้วยเรื่องพระพุทธศาสนาไม่ได้ จึงหันไปคบกับลังกามาแต่ครั้งพระเจ้าอนุรุธ

ตำนานการพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปตอนนี้ ได้ความตามหนังจารึกกัลยาณีของพระเจ้ารามาธิบดี(ปิฎกธร) กรุงหงสาวดีว่า เมื่อพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในลังกาทวีปแล้ว จำเนียรกาลนานมาพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย (คือพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่เป็นศาสนูปภกในการทำสังคายนาที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๔๓๓) ไปทรงเลื่อมใสในพระเถระองค์ซึ่งมีนามว่า พระมหาติสสะ โดยเป็นผู้ได้มีคุณูปการะแก่พระองค์ ในเวลาหลบหนีพวกทมิฬอยู่เมื่อก่อนจะได้ราชสมบัติ พระเจ้าวัฏฏคมินีอภัยนิมนต์พระมหาติสสะมาตั้งแต่งให้เป็นสังฆนายกครองอภัยคิรีวิหาร พระมหาติสสะองค์นี้พระสงฆ์โดยมากรังเกียจ ว่าเป็นผู้ประพฤติตนให้ระคนด้วยตระกูล จึงไม่ยอมร่วมสังวาส เป็นเหตุให้พระภิกษุสงฆ์ในลังกาเกิดแตกเป็น ๒ พวกขึ้นในครั้งนั้น คนทั้งหลายเรียกพระภิกษุพวกเก่าว่า มหาวิหารวาสีนิกาย เรียกพวกพระมหาติสสะว่า อภัยคิรีวิหารวาสีนิกาย (ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เหตุที่พระลังกาแตกนิกายในครั้งที่กล่าวนี้ พวกพระมหาติสสะเห็นจะเป็นพวกที่ถือลัทธิมหายานชั้นแรกมามีขึ้นในลังกา)

ต่อมาอีก ๓๕๗ ปี ครั้งพระเจ้ามหาเสนราชครองราชสมบัติ ทรงสร้างเชตวันวิหารขึ้น นิมนต์พระเถระชื่อติสสะอีกองค์หนึ่งมาเป็นสังฆนายก พวกพระภิกษุสงฆ์ทั้งสองนิกายรังเกียจพระติสสะองค์นี้ว่าคดโกงและคบหาแต่บาปมิตร จึงเลยไม่ร่วมสังวาสกับพวกพระติสสะ ภิกษุสงฆ์พวกนั้นเกิดเป็นเชตวันวิหารวาสีนิกายขึ้นอีกพวกหนึ่ง เป็น ๓ นิกายทั้งพวกเดิม เป็นดังนี้มาช้านาน จน พ.ศ. ๑๗๐๘ พระเจ้าศิริสังฆโพธิปรักกมพาหุมหาราช ได้เสวยราชสมบัติครองลังกาทวีป (ตามตำนานสังคายนาของเราว่า พ.ศ. ๑๕๘๗ พระเจ้าปรักกมพาหุพระองค์นี้ได้ทำสังคายนาอันนับเป็นที่ ๗ นับการที่พระพุทธโฆษาจารย์ไปแปลอรรถกถาเป็นสังคายนาที่ ๖) พระเจ้าปรักกมพาหุให้ชำระสงฆมณฑลให้สิ้นเสี้ยนหนามอย่างพระเจ้าอโศกได้เคยทำมาแต่ก่อน รวมพระสงฆ์ในลังกาทวีป ให้คงมีแต่พระสงฆ์มหาวิหารวาสี ที่ถือลัทธิตามแบบอย่างของพระมหินทเถร กล่าวคือนิกายข้างฝ่ายใต้แต่นิกายเดียว

การที่พระเจ้าปรักกมพาหุทรงจัดการพระศาสนาครั้งนั้น คงจะทำให้ลัทธิและความประพฤติของพระสงฆ์ในลังกาทวีป เป็นระเบียบเรียบร้อยเคร่งครัดดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก กิตติศัพท์จึงล่วงลือมาถึงทางประเทศนี้ ในจารึกกัลยาณีกล่าวว่า เมื่อปีมะเเม จุลศักราช ๖๓๒ พ.ศ. ๑๗๑๓ สังฆนายกในเมืองพุกามองค์หนึ่ง ชื่อพระอุตราชีวมหาเถร เป็นอาจารย์ของพระเจ้าพุกาม ได้พาพระภิกษุบริษัทพวกหนึ่งออกไปเมืองลังกา มีสามเณรไปด้วยรูป ๑ ชื่อว่า ฉปัฏสามเณร ท่านพวกพระไปนมัสการพระเจดีย์สถานต่างๆเสร็จแล้วกลับมาเมืองพุกาม แต่สามเณรนั้นไปบวชเป็นพระภิกษุเล่าเรียนอยู่ในเมืองลังกาถึง ๑๐ ปี จึงพาพระมาจากลังกาด้วยกันอีก ๔ รูป ชื่อ พระสีวลีชาวบ้านลิฏฐิคาม(เข้าใจว่าเป็นรามัญ)รูป ๑ พระตามลินท์ ราชบุตรพระเจ้ากัมโพช(อาจจะเป็นพระราชบุตรของพระเจ้ากรุงพูชา หรือเจ้าเมืองไทยใหญ่เมืองใดเมืองหนึ่งก็ได้)รูป ๑ พระอานันท์ชาวเมืองกิญจิบุรี(เข้าใจว่าเป็นไทย อาจจะเป็นชาวเมืองอู่ทอง)รูป ๑ พระราหุลเป็นชาวลังการูป ๑ กลับมายังเมืองพุกาม พระสงฆ์ ๕ องค์นี้ ในจารึกกัลยาณีว่า เป็นผู้ที่นำนิกายลังกาวงศ์เข้ามาประดิษฐานทางประเทศนี้เป็นปฐม เมื่อ พ.ศ. ๑๗๒๓ ความจริงอันจะแลเห็นได้ในพระภิกษุ ๕ องค์นั้น ว่าการที่พระภิกษุทางประเทศนี้ออกไปศึกษาศาสนาลัทธิถึงเมืองลังกาครั้งนั้น ไม่แต่พวกรามัญ ถึงพระเมืองอื่นก็มีออกไป และจะไม่แต่พระ ๕ องค์ที่กล่าวในจารึกกัลยาณี คงจะมีพระพวกอื่นนอกจาก ๕ องค์ที่กล่าวมาแล้ว ได้พาลัทธิสงฆ์ลังกาวงศ์เข้ามาในคราวนั้นเหมือนกัน ควรเชื่อได้ว่า ลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาประดิษฐานทางประเทศนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๐๐ เศษ เป็นต้นมา

เริ่มที่จะเห็นในหนังสือไทย ที่กล่าวถึงการพระศาสนาในชั้นพระสงฆ์ลังกาวงศ์ ก็มีในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงกรุงสุโขทัย ได้ความว่า เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๖๕๔ พ.ศ. ๑๘๓๕ เมืองสุโขทัยมีวัดวาครึกครื้นและทอดกฐินรินย่ากันแล้ว ส่วนพระสงฆ์ในจารึกว่ามีปู่ครู มีพระสังฆราช มีเถระ มีมหาเถระ เรียนรู้พระไตรปิฎก พระมหาเถระที่เป็นใหญ่ ว่ามาแต่เมืองนครศรีธรรมราช ดูพระเจ้าขุนรามคำแหงทรงนับถือมาก วันพระวันโกนถึงนิมนต์พระมหาเถระขึ้นนั่งแสดงธรรมบนพระแท่นมนังคศิลา

ต่อมาถึงจารึกของพระมหาธรรมราชา(ลิไทย) ผู้เป็นราชนัดดาของพระเจ้าขุนรามคำแหง เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๖๗๙ พ.ศ. ๑๘๖๐ เรื่องสร้างพระมหาธาตุและปลูกพระศรีมหาโพธิในเมืองนครชุม กล่าวในจารึกว่า พระบรมธาตุและพระมหาโพธิเป็นของที่แท้จริง ได้มาจากลังกาทวีป และแสดงอายุพระศาสนาอย่างซึมทราบไว้ในจารึกนั้น ใช่แต่เท่านั้น ยังมีหนังสือไตรภูมิพระร่วง ที่พระเจ้าลิไทยให้แต่งขึ้นบอกไว้ชัดว่า ทรงเล่าเรียนพระไตรปิฎก บอกชื่อคัมภีร์ในพระไตรปิฎกไว้มาก ดูความรู้และความศรัทธาของไทยเจริญขึ้นกว่าครั้งพระเจ้าขุนรามคำแหงมาก เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๗๒๓ พ.ศ. ๑๙๐๔ ถึงดำรัสใช้ให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระสวามีสังฆราชมาจากเมืองลังกา แล้วพระองค์เองออกทรงผนวชอยู่คราวหนึ่งเป็นที่สุด เรื่องที่กล่าวมานี้ นับว่าเป็นผลของที่มีพระสงฆ์ลังกานิกายเข้ามาในยุคแรก

ต่อมาได้ความในหนังสือตำนานโยนกว่า เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔ พ.ศ. ๑๙๖๕ ตรงในสมัยเมืองสมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ ครองราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา ว่ามีพระภิกษุสงฆ์ทางประเทศนี้หมู่หนึ่ง หัวหน้าเป็นพระมหาเถรเชียงใหม่ ๗ รูป ชื่อ พระธรรมคัมภีร์ ๑ พระเมธังกร ๑ พระญาณมังคละ ๑ พระศีลวงศ์ ๑ พระสาริบุตร ๑ พระรัตนากร ๑ พระพุทธสาคร ๑ เป็นพระมหาเถรชาวกรุงศรีอยุธยา ๒ รูป ชื่อ พระพรหมมุนี ๑ พระโสมเถร ๑ เป็นพระมหาเถรชาวกรุงกัมพูชา ชื่อ พระญาณสิทธิรูป ๑ กับภิกษุบริษัทเป็นอันมาก พากันออกไปเมืองลังกา ไปอุปสมบทแปลงเป็นสิงหลนิกาย ณ อุทกเขปสีมาที่แม่น้ำกัลยาณี ในสำนักพระวันรัตนเถร เมื่อ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาฒ ปีมะโรง จุลศักราช ๗๘๖ พ.ศ. ๑๙๖๗ แล้วศึกษาธรรมวินัยอยู่ในลังกาทวีปหลายปี

เมื่อกลับมาได้นิมนต์พระมหาเถรชาวลังกามาด้วย ๒ รูป ชื่อพระมหาวิกรมพาหุรูป ๑ พระอุดมปัญญารูป ๑ มาขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาก่อน แล้วแยกย้ายกันไปเที่ยวตั้งนิกายขึ้นอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่าวันรัตนวงศ์ แปลเป็นภาษาไทยเรียกคณะ "ป่าแก้ว" (ชาวเชียงใหม่ไปเรียกว่า "ป่าแดง") ได้ความตามหนังสือตำนานที่ปรากฏอยู่ในเมืองเชียงใหม่ดังนี้ เชื่อได้ว่าพระสงฆ์นิกายป่าแก้วมีขึ้นครั้งนั้นเป็นปฐม แต่ความที่ปรากฏทางเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง วัดนิกายป่าแก้วนี้มีในหัวเมืองแถบนั้นมาก เห็นพระสงฆ์นิกายป่าแก้วจะมาแพร่หลายทางหัวเมืองเหล่านั้นก่อน แล้วจึงขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยา จึงได้เรียกพระสงฆ์คณะป่าแก้ว ที่ขึ้นสมเด็จพระวันรัตนว่าคณะใต้ พระสงฆ์นิกายนี้คงจะปฏิบัติเคร่งครัดสันทัดทางแสดงธรรมวินัยกว่าพระสงฆ์ลังกาวงศ์ซึ่งมาอยู่แต่ก่อน จึงทำให้ความเจริญเลื่อมใสกันขึ้น เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

แต่เหตุซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวชนั้น เห็นจะไม่ใช่เป็นแต่ด้วยทรงเลื่อมใสในคุณธรรมของพระสงฆ์ของคณะป่าแก้วอย่างเดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเกี่ยวแก่ที่ทรงนิยมพระเกียรติคุณอย่างพระมหาธรรมราชา(ลิไทย) ซึ่งน่าจะยกย่องกันอยู่ในเมืองเหนือมากในเวลานั้นด้วยอีกอย่างหนึ่ง สังเกตดูการอย่างใดๆซึ่งพระมหาธรรมราชาส(ลิไทย)ได้ทรงทำที่ปรากฏเป็นพระเกียรติยศ ดูเหมือนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาภถจะได้ทรงทำเทียบ และทำได้ดีกว่าแทบทุกอย่าง

เป็นต้นว่า พระมหาธรรมราชา(ลิไทย)ได้ทรงแต่งหนังสือไตรภูมิ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ทรงแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง (เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ พ.ศ. ๒๐๒๕) สมเด็จพระมหาธรรมราชา(ลิไทย)ได้ตั้งแบบแผนราชประเพณี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ได้ทรงจัดวิธีปกครองบ้านเมือง และตั้งกฎมนเทียรบาล วางแบบแผนราชประเพณีให้มั่นคง แม้การสร้างวัดวาอาราม พระมหาธรรมราชา(ลิไทย)ได้ทรงสถาปนาในเมืองสุโขทัยเพียงไร สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ได้ถวายที่พระราชวังในกรุงศรีอยุธยาเป็นวัด และไปสถาปนาพระอารามที่เมืองพิษณุโลกอีกเป็นอันมาก ตลอดจนสร้างปราสาทราชมนเทียรใหม่ก็ทำอย่างเดียวกัน ดูดำเนินรอยเดียวกันจนสละราชสมบัติออกทรงผนวช ซึ่งเชื่อได้ว่าคนทั้งหลายคงนิยมในเวลานั้นว่าเป็นการบำเพ็ญเขกขัมบารมีทางปรมัตถประโยชน์ นับเป็นพระเกียรติยศอย่างสูงสุดที่จะทำได้ จนถึงพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศที่ใกล้เคียง คือ พระเข้าเชียงใหม่ พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคตหุต ทั้ง ๓ พระองค์ ต่างแต่งราชทูตเชิญบริขารมาถวาย ดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่วัดจุฬามณีจนตราบเท่าทุกวันนี้

ในการที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวชครั้งนั้น เห็นจะเลื่อมใสพระเกียรติยศมาก เป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นขวนขวายทรงการบำเพ็ญอุปถัมภกพระศาสนาเป็นอย่างพิเศษบ้าง ดังปรากฏในหนังสือรามัญสมณวงศ์ว่า ต่อมาเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๘๓๗ พ.ศ. ๒๐๑๘ พระเจ้ารามาธิบดี(ปิฎกธร) กรุงหงสาวดีส่งพระภิกษุสงฆ์ออกไปอุปสมบทแปลงที่เมืองลังกา ให้พระสงฆ์พวกนั้นมาตั้งนิกายลังกาใหม่ แล้วบังคับให้พระสงฆ์ในรามัญประเทศแปลงเป็นนิกายเดียวกันหมด และต่อมาอีก ๒ ปี เมื่อปีระกา จุลศักราช ๘๓๙ พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ก็ตั้งพิธีทำสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งนับว่าเป็นสังคายนาที่ ๘ ดูเนื่องมาจากที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวชขึ้นก่อนทั้งนั้น

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไม่ได้ทรงผนวชแต่พระองค์เองเท่านั้น ได้ความตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๔๖ พ.ศ. ๒๐๒๗ โปรดให้พระราชโอรสอันทรงพระนามว่าพระเชษฐาธิราช ซึ่งภายหลังได้เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงผนวชเป็นสามเณรพร้อมกับราชนัดดา ซึ่งเป็นพระโอรสของพระบรมราชาที่ครองกรุงศรีอยุธยาอีกพระองค์หนึ่ง น่าจะเข้าใจว่าประเพณีที่เจ้านายทรงผนวชและผู้ลากมากดีบวช ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา จนเป็นธรรมเนียมเมืองสืบมาช้านาน เห็นจะมีขึ้นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นปฐม และยังมีข้อน่าสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยธรรมเนียมเดิมของเรา เจ้านายและขุนนางย่อมไว้ผมยาว ต่อไพร่เลวจึงตัดผมสั้น อันจะเห็นได้ด้วยเครื่องสวมศีรษะ เช่น ชฎาและลอมพอก ซึ่งมาแต่ผ้าโพกในเวลาเมื่อยังไว้ผมสูง จะเลิกประเพณีไว้ผมยาวเมื่อเกิดบวชกันขึ้นนี้ดอกกระมัง ข้อนี้ไม่มีหลักฐาน เป็นแต่ข้าพเจ้านึกขึ้นก็จดเอาไว้สำหรับให้ผู้อื่นพิจารณาต่อไป



เรื่องตั้งเจ้าเมืองล้านช้าง


ในพระราชพงศาวดารว่า พระยาล้านช้างถึงแก่กรรม และพระราชทานอภิเษกให้พระยาเมืองขวา (ตามฉบับหลวงประเสริฐว่า พระยาซ้ายขวา) เป็นพระยาล้านช้าง ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐว่า เมื่อปีชวด จุลศักราช ๘๔๒ พ.ศ. ๒๐๒๓ เรื่องนี้สอบหนังสือพงศาวดารล้านช้าง ได้ความว่าเดิมพระไชยจักรพรรดิครองเมืองล้านช้าง เมื่อจุลศักราช ๘๔๒ แล้วยกกองทัพมาตีเมือง พระไชยจักรพรรดิหนีข้าศึกลงมาอาศัยอยู่เมืองเชียงคาน ซึ่งขึ้นกรุงศรีอยุธยา ในปีนั้นเองพระไชยจักรพรรดิพิราลัย เจ้าแท่นคำผู้เป็นราชบุตรที่ ๒ ได้เป็นเจ้าเมืองล้านช้างแทน ราชาภิเษกมีนามว่า พระสุวรรณปาสัง ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชทานอภิเษกนั้นคือ พระสุวรรปาสัง นี้เอง

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระบรมราชา ราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยกกองทัพออกไปตีได้เมืองทวาย เรื่องนี้ได้พบในหนังสือพงศาวดารพม่ายุติต้องกันว่าเป็นความจริง เมืองทวายแต่ก่อนขึ้นกรุงศรีอยุธยา จะเป็นพระเจ้าราชาธิราชหรือเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ครองเมืองหงสาวดี มาตีเอาไปเสียคราวหนึ่ง สมเด็จพระบรมราชาจึงไปตีเอากลับมาเป็นของกรุงศรีอยุธยาอีก ในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า ครั้งนั้นไทยกวาดต้อนเอาผู้คนมาด้วยเป็นอันมาก




 พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ตอน แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสมเด็จพระราเมศวรเจ้าผู้เป็นพระราชบุตร ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนาม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยกวังทำเป็นวัดพระศรีสรรเพชญเสด็จมาอยู่ริมน้ำ จึงให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทองค์หนึ่ง แล้วพระราชทานชื่อขุนนางตำแหน่งนา ให้เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม เอาพลเรือนเป็นสมุหนายก เอาขุนเมืองเป็นพระนครบาลเมือง เอาขุนวังเป็นพระธรรมาธิกรณ์ เอาขุนนาเป็นพระเกษตรา เอาขุนคลังเป็นพระโกษาธิบดี ให้ถือศักดินาหมื่น และที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดีที่พระองค์สร้างกรุงนั้นให้สถาปนาพระมหาธาตุ และพระวิหารเป็นพระอาราม ให้นามชื่อวัดพระราม

ศักราช ๘๐๒ ปีวอกโทศก (พ.ศ. ๑๙๘๓) ครั้งนั้นคนออกทรพิษตายมากนัก

ศักราช ๘๐๓ ปีระกาตรีนิศก (พ.ศ. ๑๙๘๔) แต่งทัพไปเอาเมืองมะละกา

ศักราช ๘๐๔ ปีจอจัตวาศก (พ.ศ. ๑๙๘๕) แต่งทัพไปเอาเมืองศรีสพเถิน ครั้งนั้นเสด็จหนุนทัพขึ้นไป ตั้งทัพหลวงตำบลบ้านโคน

ศักราช ๘๐๕ ปีกุนเบญจศก (พ.ศ. ๑๙๘๖) ข้าวเปลือกแพงทะนานละ ๘๐๐ เบี้ย ๆ เฟื้องละแปดร้อยเบี้ย ข้าวเกวียนหนึ่งเป็นเงิน ๓ ชั่งกับ ๑๐ บาท

ศักราช ๘๐๖ ปีชวดฉศก (พ.ศ. ๑๙๘๗) ให้บำรุงพระพุทธศาสนาบริบูรณ์ และหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ แล้วทรงสร้างวัดจุฬามณี

ศักราช ๘๐๘ ปีขาลอัฐศก (พ.ศ. ๑๙๘๙) เล่นการมหรสพฉลอง พระราชทานสมณชีพราหมณ์และวณิพกทั้งปวง ครั้งนั้นพระยาเชลียงคิดกบฏ พอเอาครัวทั้งปวงไปถวายพระมหาราชเจ้าเชียง

ศักราช ๘๐๙ ปีเถาะนพศก (พ.ศ. ๑๙๙๐) พระยาเชลียงนำทัพพระมหาราชมาเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถมิได้ จึงยกทัพแปรไปเอาเมืองกำแพงเพชร เข้าปล้นถึงเจ็ดวันมิได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า และสมเด็จพระอินทราชาราชบุตรเสด็จขึ้นไปช่วยเมืองกำแพงเพชรทัน และสมเด็จพระอินทราชาเจ้าตีทัพพระยาเกียรติแตก ทัพท่านมาปะทะทัพหมื่นนครได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร และข้าศึกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งช้างเดียว ครั้งนั้นพระอินทราชาเจ้าต้องปืน ณ พระพักตร์ ทัพมหาราชนั้นเลิกกลับคืนไป

ศักราช ๘๑๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๑๙๙๑) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า สร้างวิหารวัดจุฬามณี

ศักราช ๘๑๑ ปีมะเส็งเอกศก (พ.ศ. ๑๙๙๒) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าทรงพระผนวช ณ วัดจุฬามณีได้ ๘ เดือน ลาผนวชแล้วเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น